Get Adobe Flash player

เมนู

ผลงานวิชาการ

Data Center

สำหรับเจ้าหน้าที่

ล็อกอิน

คุณอยู่ที่นี่

หน้าแรก » คลังความรู้ » ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด

บทความความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 7 โควิด ประสบการณ์ตรงเมื่อจะนะต้องรับผู้ป่วย 6 ราย
     ผู้ป่วยโควิดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีการเล็กน้อย ประมาณเป็นหวัด กับกลุ่มที่มีอาการมากเป็นปอดบวม ซึ่งการดูแลจะต่างกัน ในกลุ่มปอดบวม ซึ่งไม่เกิน 5% แน่นอนว่าต้องการการดูแลจากอายุรแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลจะนะไม่มี และอาจต้องการเครื่องช่วยหายใจและ ICU ซึ่งเราจะส่งต่อ แต่ในกลุ่มอาการเล็กน้อยเราโรงพยาบาลชุมชนสามารถดูแลได้
     เป้าหมายการดูแลคนไข้โควิดในกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อยถุงปานกลาง (mild to moderate severity) คือ การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยทั้งสู่ชุมชนและบุคลากรการแพทย์ และการ early detection หรือการประเมินผู้ป่วยให้เร็วว่าเขาแย่ลงจนเป็นปอดบวมแล้วหรือไม่ หากใช่ก็จะต้องรีบรักษาหรือส่งต่อไม่ให้ภาวะปอดบวมเป็นมาก คนไข้จะเป็น severe Pneumonia (ปอดบวมมาก)ได้ ก็ต้องมาจากการเป็น mild pneumonia (ปอดบวมน้อยๆ) มาก่อน
     เนื่องจากผู้ป่วยทั้ง 6 คนนี้ มีคนที่มีไข้สูง ไอมาก อยู่ 1 คน ผู้ป่วยรายนี้จึงได้นำเข้าพักรักษาในห้องความดันลบ (ซึ่งมีเพียง 1 ห้อง) โดยได้ปรึกษาอารุยแพทย์ที่โรงพยาบาลสงขลา และเริ่มยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษา ส่วนอีก 5 คนนั้นได้นอนห้องพิเศษแยกกันคนละห้อง ยกเว้นมี 1 ห้องที่ต้องนอน 2 คน ซึ่งเราก็เลือกคนที่ไม่มีอาการไปนอนรวมกัน ทั้ง 5 คนได้ทานยาตามอาการ ทุกคนได้รับคำแนะนำให้อยู่แต่ในห้องตนเอง แต่สามารถออกไประเบียงหลังห้อง(อยู่ชั้น4) สูดอากาศคลายเครียดได้
     โรงพยาบาลจัดพยาบาล 1 คนและลูกจ้าง 1 คน ไว้เฉพาะในการดูแลผู้ป่วยชุดนี้ โดยไม่ต้องไปช่วยดูแลผู้ป่วยทั่วไป การแต่งตัวระหว่างเดินที่ระเบียงหน้าห้องหรือทำงานทั่วไปนั้น คือใส่หมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย เฟสชิลด์ กาวน์กันน้ำหรือเสื้อฝน ถุงมือ และรองเท้าบูต จะใส่ชุด PPE และ N95 เฉพาะเมื่อเข้าห้องผู้ป่วยเท่านั้น สำหรับแพทย์ จะ round ดูผู้ป่วยเตียงอื่นจนเสร็จแล้วจึงมา round ผู้ป่วยกลุ่มนี้
     โรงพยาบาลวางระบบการดูแลผู้ป่วยที่ใช้หลัก social diatancing เช่นกัน ผู้ป่วยทุกคนต้องมีโทรศัพท์ ญาติต้องจัดหามาให้ และผู้ป่วยก็มีหมายเลขโทรศัพท์ของพยาบาลด้วย ดังนั้นมีอาการอะไร ขาดเหลืออะไร โทรบอกพยาบาลได้ เราเอาปรอทดิจิตัลไว้ประจำห้องผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยวัดไข้เองและโทรศัพท์บอกพยาบาล แต่มีผู้ป่วยหนึ่งรายที่อาการมากหน่อยและมีความดันโลหิตสูง เราก็ต้องเข้าไปดู ส่วนญาติห้ามเยี่ยมให้ใช้โทรศัพท์คุยกับผู้ป่วยเอา
     อาหารผู้ป่วยจะถุกนำส่งตามมื้อ แต่ใส่กล่องที่ใช้แล้วทิ้งไม่ต้องนำกลับมาล้าง มีข้าว น้ำ ขนม และผลไม้ ญาติก็ฝากอาหารมาให้ผู้ป่วยเยอะมาก เราใช้การส่งอาหาร เสื้อผ้าผู้ป่วยหรือทุกสิ่งอย่าง โดยไม่เข้าห้องผู้ป่วย อาหารที่เหลือทิ้งลงถังขยะหลังห้อง เสื้อผ้าทิ้งในถังใส่ผ้า สองสามวันคนงานจะเข้าไปเก็บเอาขยะมากำจัดด้วยการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนผูกถุงเป็นขยะติดเชื้อที่รอนำไปเผา ส่วนเสื้อผ้าก็รวบรวมจากทั้ง 6 คนไปซักในคราวเดียวกันโดยไม่ปะปนเสื้อผ้าคนอื่น หลังจากผู้ป่วยมีของฝากเต็มห้องอยู่ช่วงหนึ่ง ทางโรงพยาบาลพบว่า ถังขยะเต็มเร็วมมาก อาหารบูดเน่า อาหารที่ญาตินำมาฝากก็กินไม่ทันเสี่ยงบูดเน่าทำให้ท้องเสีย ต่อมาจึงประกาศของดการฝากอาหารมาเยี่ยม ให้เยี่ยมให้กำลังใจทางโทรศัพท์เท่านั้น
     หลังนอนได้ 7 วันทุกคนต่างก็มีอาการดีแล้ว ก็เป้นการนอนเพื่อการกักตัวให้ครบ 14 วันเท่านั้น ในช่วง 7 วันหลัง จึงเป็นช่วงเวลาที่แพทย์แทบจะไม่ได้เข้าห้องไปดูผู้ป่วยเลย ทักทายทั่วไปและคุยทางโทรศัพท์ เพราะเขาสบายดีแล้ว และเป็นการประหยัดชุด PPE และหน้ากาก N95 ที่มีน้อยและสั่งซื้อได้ยากจริงๆ
     ก่อนครบกำหนด 14 วันที่ผู้ป่วยจะกลับบ้านสัก ราว day 11 ทางโรงพยาบาลก็ได้ทำการวางแผนเพื่อให้ผู้ป่วยกลับบ้าน (discharge plan) กันเองระห่างแพทย์เภสัชพยาบาลและทีมชุมชน วันรุ่งขึ้นนก็ได้เชิญเจ้าหน้าที่ รพ.สต.มาหารือเรื่องการกลับไปเตรียมบ้านของผู้ป่วย และการไปสร้างความเข้าใจในชุมชน ซึ่งเป็นอีกโจทย์ที่ไม่ง่ายนัก
     สิ่งที่พบเมื่อต้องให้ผู้ป่วยกลับบ้านคือ ครอบครัวก็มีความกังวลนิดๆ แต่ชุมชนนั้นมีความกังวลมากกว่า ทางโรงพยาบาลจึงกำหนดแนวทางว่า ให้ผู้ป่วยกลับไป home quarantine อีก 7 วัน เพื่อความสบายใจของเพื่อนบ้าน ครอบครัวจึงต้องไปจัดห้องนอนให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่นๆ ชุดอาหารที่แยกออกไป ใช้พื้นที่ส่วนกลางของบ้านร่วมกันได้บ้างแบบมีระยะห่าง ออกมาทำสวนขุดกินปลูกต้นไม้ได้ งดไปมัสยิด ตลาดหรือแหล่งชุมชนอีก 7 วัน และทางโรงพยาบาลได้จัดหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งไปให้อีกคนละ 10 แผ่น
     เมื่อครบ 14 วัน ทุกอย่างพร้อมก็ได้เวลาให้ญาติมารับผู้ป่วยกลับบ้านโดยที่โรงพยาบาลไม่ไปส่ง เพื่อให้เหมือนสภาพปกติของผู้ป่วยรายอื่นๆ ถ่ายรูปร่วมกัน เพื่อยืนยันว่า ผู้ป่วยหายแล้ว ร่ำลากันด้วยรอยยิ้ม
 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 11 เมษายน 2563

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง








Facebook