Get Adobe Flash player

เมนู

ผลงานวิชาการ

Data Center

สำหรับเจ้าหน้าที่

ล็อกอิน

คุณอยู่ที่นี่

หน้าแรก » คลังความรู้ » ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด

บทความความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 16 โควิด ศูนย์กักตัวระดับตำบล ความสร้างสรรค์ในข้อจำกัด
     หน้าตาของศูนย์กักตัวระดับตำบลหรือ Local Quarantine ในพื้นที่จะนะ ซึ่งมี 15 แห่งตามเขตการปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่ใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้ง เพราะมีห้องเรียนเป็นห้องๆ มีห้องน้ำรวม มีพื้นที่กว้างพอ และมีรั้วรอบ ความสร้างสรรค์ภายใต้ข้อจำกัดตามบริบทจึงเกิดขึ้นอย่างน่าชื่นชม
     ที่ศูนย์โรงเรียนบ้านโคกม้า เป็นศูนย์แรกที่มีผู้กลับจากมาเลเซียมากักตัวอยู่จริง ห้องเรียนถูกแบ่งเป็นสองห้องด้วยเอาโต๊ะเก้าอี้มากั้นแดน ทุกคนมีเต็นท์มุ้งให้นอน พร้อมจาน ช้อน ถังซักผ้า ทิชชู น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก ถังใส่ขยะ ขันน้ำ ชั้นเก็บเสื้อผ้าเล็กๆ ไม้แขวนเสื้อ ไม้กวาด เป็นต้น เพื่อให้อยู่อาศัย 14 วันแบบพึ่งตนเอง เนื่องจากจะไม่มีแม่บ้านมาบริการเช่นโรงแรม
     ผู้ที่พักกักตัวที่นี่ สามารถมาเดินเล่นนอกห้องได้ ออกกำลังกายได้ ญาติมาเยี่ยมมาฝากขนมอาหารได้ แต่ยืนคุยกันไกลๆมีถนนในโรงเรียนเป็นตัวแบ่งกั้นแดนไว้ จะมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ไปเยี่ยมสอบถามอาการทุกวัน หากมีไข้หรือป่วยก็ตามรถโรงพยาบาลมารับไปทำ swab จะมี อส.หรือ ทีมท้องถิ่นท้องที่เฝ้ายามเป็นเพื่อนตลอดเวลา มีการส่งอาหารสามมื้อแก่ทุกคนเผื่อว่าญาติไม่มี
     เพราะเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้ดีมากแล้ว โดยพบผู้ติดเชื้อวันละต่ำร้อย หัวใจประการสำคัญก็คือ เฝ้าระวังการนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ การกักตัวผู้ที่กลับจากต่างประเทศ 14 วัน จึงเป็นมาตรการที่สำคัญ
     ครั้นจะกักตัวที่ไหน Home Quarantine หรือการกักตัวที่บ้านก็ไม่ง่าย เพราะคนไปทำงานเมืองนอกส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวย บ้านหลังไม่ใหญ่ เป็นครอบครัวใหญ่ และอาจขาดวินัยในการกักตัว ครั้นจะกักตัวที่ส่วนกลางหรือ State Quarantine ก็ได้ ต้นทุนสูง เป็นภาระการจัดการมาก คำตอบจึงมาอยู่ที่ Local Quarantine กักตัวในอำเภอหรือตำบล ญาติมาเยี่ยมฝากอาหารคุยกันไกลๆได้ กระจายภาระแต่ก็แน่นอนว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงในการระบาดในพื้นที่ด้วยแม้จะไม่มาก แต่ก็ดีที่สุด
     นี่คือระบบและหน้าตาของศูนย์กักตัวระดับตำบล แต่ละแห่งก็สร้างสรรค์ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ตามแต่ท้องถิ่นนั้นซึ่งเป็นแม่งานจะจัดการ นับเป็นอีกความงดงามของพลังท้องถิ่นและพลังชุมชนของประเทศไทยครับ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 20 เมษายน 2563

        

   

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง








Facebook