Get Adobe Flash player

เมนู

ผลงานวิชาการ

Data Center

สำหรับเจ้าหน้าที่

ล็อกอิน

คุณอยู่ที่นี่

หน้าแรก

บทนำ    
     การเจ็บป่วยจากความร้อน เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศทางตะวันตก ซึ่งมักมีอากาศหนาวแต่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนและไม่คุ้นเคย สำหรับในประเทศไทยพบว่ามีการศึกษาการเจ็บป่วยจากความร้อนมีน้อยมาก อาจเนื่องจากที่ผ่านมาพบอุบัติการณ์การเจ็บป่วยที่ต่ำมาก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงมีความคุ้นเคยและปรับตัวกับอากาศได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามในส่วนของทหาร มีข้อมูลทางระบาดวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา มีรายงานการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงของทหารที่เข้ารับการฝึกเบื้องต้นจากทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า ๑๕ รายต่อปี และส่วนใหญ่พบในทหารที่เข้ารับการฝึกในผลัดที่ ๑ ซึ่งเป็นการฝึกที่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี และมักเป็นกับทหารที่อยู่หน่วยงานในภาคกลาง
ประเภทของการเจ็บป่วยจากความร้อน

  1. ลมร้อน (Heat Exhuaustion)
  2. ลมแดด (Heat stroke)
  3. ตะคริว (Heat cramp)

ลมร้อน (Heat Exhuaustion)        
     การเป็นลมชนิดนี้ มีสาเหตุมาจากการอยู่ในที่มีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอากาศที่ร้อนและความชื้นสูงด้วย จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูง ซึ่งจะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณผิวหนังมากขึ้น เพื่อขับเหงื่อออกจากร่างกาย ถ้ากำลังสูบฉีดเลือดของหัวใจไม่เพียงพอสำหรับเพิ่มกระแสเลือดที่จะไปเลี้ยงผิวหนัง นอกเหนือจากที่ต้องไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและสมองแล้ว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ถ้าสภาวะนี้เป็นไปเรื่อย ๆ จะทำให้เป็นลมเพราะสมองขาดออกซิเจน จะพบได้เสมอในคนที่เหนื่อยง่าย เสพสุราเรื้อรัง เป็นโรคเกี่ยวกับความดัน มีน้ำหนักตัวมากผิดปกติ และไม่เคยชินกับการทำงานหรือออกกำลังกายในที่มีอากาศร้อนอบอ้าวและมีความชื้น นอกจากนี้ร่างกายยังมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อเป็นจำนวนมาก (dehydration) โดยที่ไม่ได้รับสารน้ำเข้าไปทดแทนอย่างเพียงพอ

อาการและอาการแสดง
  • หน้าซีด ผิวหนังเย็น และชื้น
  • ช่องม่านตาขยาย
  • อุณหภูมิร่างกายปกติ หรือต่ำกว่าปกติ
  • หายใจเร็วและตื้น
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และความอยากอาหารลดลง
  • เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และเป็นลม

การปฐมพยาบาล

  1. นำผู้ป่วยเข้าพักในที่เย็น หรือที่มีร่มเงา และอากาศถ่ายเทสะดวก
  2. ให้ผู้ป่วยนอนยกเท้าสูง เพื่อป้องกันภาวะช็อค ตลอดจนให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ และไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น
  3. ปลดหรือคลายเครื่องแต่งกายที่คับให้หลวม ยกเว้นกรณีผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น หรืออยู่ในพื้นที่มีการปนเปื้อนสารพิษ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวหรือเปิดพัดลมให้ผู้ป่วย (ถ้ามี)
  4. ถ้าผู้ป่วยมีสติ และสามารถดื่มน้ำได้ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเย็นประมาณครึ่งแก้วทุก ๆ ๑๕ นาที ถ้ามีอาเจียน หยุดให้น้ำทันที และไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานเกลือเม็ด
  5. สังเกตอาการผู้ป่วยต่อ เมื่ออาการดีขึ้นต้องแนะนำให้พักผ่อนต่ออีกระยะหนึ่ง ไม่ควรรีบร้อนให้ทำงาน

ลมแดด (Heat stroke)
     ลมแดด หรือเรียกอีกอย่างว่า Sunstroke ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ หากทำการช่วยเหลือไม่ทัน ปกติอุณหภูมิของร่างกายประมาณ ๓๗°C เมื่ออากาศร้อนเหงื่อจะออกมากทำให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลง ร่างกายจะพยายามรักษาระดับอุณหภูมิไว้ ในกรณีที่จะเกิดลมแดด กลไกควบคุมความร้อนในร่างกายไม่ทำงาน เมื่อวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก (ค่าถูกต้องมากกว่าวัดที่ผิวหนังและใต้รักแร้) จะมีอุณหภูมิสูงกว่า ๔๑° C เมื่อร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ ทำให้ปริมาณความร้อนที่สูงมากทำอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งควบคุมการขยายตัวของหลอดเลือด รวมทั้งการกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อสร้างเหงื่อ มักพบภาวะไตวายเฉียบพลัน ระบบหายใจล้มเหลว ตับถูกทำลาย กลไกการแข็งตัวของเลือดบกพร่องเนื่องจาก coagulation factor และเกร็ดเลือดถูกทำลายและส่วนใหญ่ก็จะเสียชีวิตในที่สุด ความผิดปกตินี้พบได้ทั่วโลก ลมแดด (Heat stroke) จึงเป็นภาวะที่มีความรุนแรง แก้ไขได้ยาก อัตราตายสูง และควรได้รับการป้องกันได้เป็นอย่างดี การปฐมพยาบาล และนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว มีความสัมพันธ์ต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย

อาการและอาการแสดง
  1. อุณหภูมิในร่างกายสูงมากกว่า ๔๑° C ( ๑๐๕ ° F)
  2. ผิวหนังร้อนและแห้ง หน้าแดง
  3. ช่องม่านตาหดเล็ก
  4. ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เวียนศีรษะหรืออ่อนเพลีย
  5. ในระยะแรกจะหายใจเร็วและลึก ต่อมาหายใจตื้น ชีพจรเบาและไม่สม่ำเสมอ กล้ามเนื้อเกร็งตัว และชัก ช่องม่านตาขยาย และตามตัวจะมีกลิ่นฉุน ผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีเทาคล้ายขี้เถ้า ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยใกล้ถึงภาวะที่หัวใจหยุดทำงาน

การปฐมพยาบาล

  1. ย้ายผู้ป่วยมาอยู่ในห้องที่มีอากาศเย็นทันที หากมีอาการไม่รุนแรง รู้สติพอสมควร ให้ผู้ป่วยได้รับการลดไข้ด้วยวิธีพ่นละอองน้ำ (ใช้เครื่องฉีดละอองน้ำแบบเดียวกับที่ใช้รีดผ้า) หรือพรมน้ำให้ทั่วตัว แล้วใช้พัดลมพัดหรือมีผู้ช่วยเหลือใช้เสื้อผ้าแทนพัด กระพือให้มีลมพัดผ่านตัวผู้ป่วยเพื่อให้ละอองน้ำหรือหยดน้ำที่ผิวของผู้ป่วยระเหย ซึ่งเป็นวิธีช่วยดูดซับความร้อนออกจากร่างกายผู้ป่วยได้ดีที่สุด (การใช้น้ำหรือแอลกอฮอล์ราดตัวของผู้ป่วย ลดไข้ของผู้ป่วยได้น้อยกว่า) ระหว่างที่กำลังช่วยลดความร้อนของผู้ป่วย ควรส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
  2. ดูแลทางเดินหายใจให้โล่ง กรณีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว โดยจัดท่านอนให้เป็นตะแคงกึ่งคว่ำ หันหน้าออกด้านข้าง จะทำให้ผู้ป่วยหายใจได้โดยลิ้นไม่อุดหลอดลม
  3. ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจแต่ยังมีชีพจรอยู่ ต้องเริ่มการช่วยหายใจโดยวิธี เป่าลมเข้าปอดทางปาก (mouth to mouth)
  4. หากพบว่าผู้ป่วยไม่มีชีพจรก็ต้องเริ่มขบวนการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ทันที และขอความช่วย เหลือเพิ่มเติมจากหน่วยแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุด
  5. ปลดคลายเสื้อผ้าที่คับให้หลวม เพื่อให้หายใจสะดวกและเลือดไหลเวียนดีขึ้น
  6. นอนยกเท้าสูง เพื่อป้องกันภาวะช็อค
  7. ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ให้ดื่มน้ำเย็นช้า ๆ เช่นเดียวกับผู้ป่วยลมร้อน

ตะคริว (Heat cramp)
                ตะคริวเกิดจากการออกกำลังกายติดต่อกันเป็นเวลานานในที่มีอากาศร้อนจัด ทำให้มีเหงื่อออกมากและร่างกายสูญเสียเกลือแร่เป็นจำนวนมาก ปวดและกล้ามเนื้อหดเกร็ง การเกิดตะคริวอาจมีผลมาจากการที่ดื่มน้ำเย็นจัดอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก ภายหลังจากการออกกำลังกายในที่อากาศร้อนจัด

อาการและอาการแสดง
  1. ปวด จากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
  2. อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ และเป็นลม
  3. คลื่นไส้และอาเจียน
  4. ทำให้อ่อนเพลียและเกิดความเหนื่อยล้า

การปฐมพยาบาล

  1. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้อยู่ในที่อากาศเย็น
  2. ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ให้ดื่มน้ำผสมเกลือแกงประมาณ ๑ ช้อนชา ในน้ำ ๑ ลิตร (ไม่ควรเป็นน้ำที่เย็นจัด) ทุก ๆ ๑๕ นาที ถ้ามีอาเจียน ให้หยุดดื่ม
  3. ค่อย ๆ ยืดกล้ามเนื้อ และนวดบริเวณที่เป็นตะคริว
  4. นำผู้ป่วยพบแพทย์ ถ้ามีอาการบาดเจ็บอย่างอื่นร่วมด้วย หรืออาการไม่ดีขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายจากความร้อน

  1. ไม่สามารถปรับตัวให้เคยชินกับสภาพอากาศร้อนได้
  2. มีไข้
  3. อ่อนเพลีย ท้องเสีย หรือร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ
  4. ผู้สูงอายุ อ้วน หรือ สุขภาพไม่สมบูรณ์
  5. ผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะ
  6. หายจากการป่วยใหม่ ๆ หรืออยู่ในภาวะการติดเชื้อ
  7. ดื่มสุรามาก ภายใน ๒๔ ชม. ก่อนหน้านี้

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง








Facebook